วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แผนที่เส้นทางไปสวนโมกข์


การเดินทางไปสวนโมกข์
มีได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับภูมิภาคที่ท่านอาศัยอยู่ ในที่นี้จะอธิบายการเดินทางโดยรถไฟ รถทัวร์ เครื่องบิน และรถส่วนตัว
รถไฟ
สถานีรถไฟที่อยู่ใกล้สวนโมกข์ที่สุดคือสถานีไชยา
ขบวนยอดนิยม สำหรับผู้ที่เดินทางจากกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง คือขบวนที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ด่วนนครฯ” หมายถึงรถด่วน ขบวน ๘๕ วิ่งจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่นครศรีธรรมราช ขบวนนี้ออกจากกรุงเทพตอนหัวค่ำ ถึงไชยาตอนเช้าตรู่ มีตู้นอนให้เลือกทั้งแบบพัดลม และแบบปรับอากาศ นอกจากนี้ ยังมีตู้นั่งทั้งชั้นสอง และชั้นสาม หากขบวนนี้เต็ม ก็ยังมีขบวนอื่นให้เลือก ดังในตารางต่อไปนี้
จากกรุงเทพฯ มาไชยา
ออกจากหัวลำโพงถึงไชยาเลขขบวนชื่อขบวนประเภท
07:45 น.15:51 น.    43กรุงเทพ-สุราษฎร์สปินเตอร์
18:20 น.05:17 น.  167กรุงเทพ-กันตังรถเร็ว
19:15 น.06:06 น.    85กรุงเทพ-นครฯรถด่วน
22:50 น.07:29 .น    39กรุงเทพ-สุราษฎร์สปินเตอร์
22:50 น.07:25 น.    41กรุงเทพ-ยะลาสปินเตอร์

สำหรับผู้ที่ต้องนั่งรถไฟจากภาคเหนือหรือ อีสาน มาต่อรถไฟที่กรุงเทพฯนั้น สามารถต่อได้ที่สถานีบางซื่อโดยไม่ต้องนั่งเข้ามาต่อที่สถานีหัวลำโพง
เมื่อมาถึงสถานีไชยาแล้ว การเดินทางไปสวนโมกข์ทำได้ ๓ วิธีคือ
๑.      นั่งรถประจำทางที่เป็นรถสองแถวสีฟ้า มีคิวรถอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟนัก สามารถถามได้จากชาวบ้านทั่วไป ค่าบริการ ๒๐ บาท
๒.      นั่งรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่มีคิวอยู่หน้าสถานีรถไฟ ค่าบริการประมาณ ๘๐ บาท (มีป้ายแสดงราคาค่าบริการที่เป็นมาตรฐานที่คิวรถ)
๓.      เหมารถสองแถวจากคิวรถไปส่ง ราคาประมาณ ๒๐๐ บาท 
จากไชยากลับกรุงเทพฯ ขบวนที่นิยมยังคงเป็นด่วนนครฯ ที่ขึ้นที่สถานีไชยาตอนก่อนค่ำ ถึงกรุงเทพฯ แต่เช้า สำหรับผู้ที่เสร็จจากการอบรมรายการต่างๆ ในตอนเช้า และต้องการกลับกรุงเทพฯ ในตอนสาย ก็จะชอบรถสปินเตอร์ ขบวนนี้ออกจากไชยาตอนสายๆ ถึงกรุงเทพฯ ตอนค่ำ
จากไชยา กลับกรุงเทพฯ
ขึ้นรถที่ไชยาถึงหัวลำโพงเลขขบวนชื่อขบวนประเภท
11:00 น.19:50 น.    40สุราษฎร์-กรุงเทพฯสปินเตอร์
18:22 น.05:15 น.   174นครฯ-กรุงเทพฯรถเร็ว
19:30 น.06:15 น.   168กันตัง-กรุงเทพฯรถเร็ว
19:55 น.06:50 น.    86นครฯ-กรุงเทพฯรถด่วน


รถทัวร์
จากกรุงเทพฯ มีรถทัวร์ที่วิ่งผ่านสวนโมกข์หลายสาย ที่นิยมคือนั่งรถที่สุดสายที่ในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีทั้งรถเที่ยวกลางคืน เที่ยวเช้าและเที่ยวสาย รถเที่ยวกลางคืน ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ประมาณสองทุ่ม จะถึงหน้าสวนโมกข์ประมาณตีสี่ ส่วนเที่ยวเช้าจะถึงประมาณบ่ายสามถึงสี่โมง แต่ละบริษัทจัดเวลาออกรถแตกต่างกันไป
หากเดินทางจากกรุงเทพฯ หรือจังหวัดที่อยู่เหนือสุราษฎร์ฯ ขึ้นไป จะถึงสวนโมกข์ก่อนถึงตัวเมืองสุราษฎร์ฯ ประมาณหกสิบกิโลเมตร ส่วนที่เป็นวัดจะอยู่ทางขวามือ สวนโมกข์นานาชาติจะอยู่ในซอยที่อยู่เยื้องๆ กับวัด ที่อยู่ฝั่งเดียวกับที่เราลงจากรถ จึงควรบอกกับพนักงานบนรถว่าเราจะลงหน้าสวนโมกข์ตั้งแต่รถออกจากท่าให้เรียบร้อย
อาคารธรรมทานสำหรับผู้หญิงที่เดินทางมาโดยลำพัง หากท่านมาลงรถที่หน้าสวนโมกข์ตั้งแต่ยังไม่สว่าง เพื่อเป็นการไม่ประมาทขอแนะนำให้เดินข้ามถนน แล้วเข้าไปนั่งรอในเขตวัด จนสว่างแล้วจึงค่อยนั่งรถรับจ้างเข้าไปในสวนโมกข์นานาชาติ
จากภูมิภาคอื่น ที่มีรถทัวร์วิ่งตรงมาถึงภาคใต้เลย  เช่นจากแหลมฉบัง ไปเกาะสมุย ภูเก็ต ถ้ามีปลายทางที่สุราษฎร์หรือจังหวัดที่อยู่ใต้สุราษฎร์ลงไป รถเหล่านี้ล้วนแต่วิ่งผ่านสวนโมกข์ทั้งนั้น
จากจังหวัดที่อยู่ใต้กว่าสุราษฎร์ลงไป จากแผนที่จะเห็นว่าสวนโมกข์นั้นอยู่บนทางหลวงสาย ๔๑ ที่อยู่เหนือตัวเมืองสุราษฎร์ขึ้นไปอีกหลายสิบกิโลเมตร ดังนั้น จึงควรเลือกนั่งรถที่มีปลายทางที่อำเภอหลังสวน, ชุมพร, ประจวบคีรีขันธ์ หรือจุดที่อยู่เหนือขึ้นไป ไม่ควรนั่งรถที่สุดสายที่สุราษฎร์ เพราะต้องต่อรถอีกทอดหนึ่ง และจุดที่จะต่อรถนั้นเป็นคนละจุดกับที่ลงจากรถทัวร์
เครื่องบิน
สนามบินสุราษฎร์ธานีตั้งอยู่บนทางหลวงสาย ๔๑ เช่นเดียวกับสวนโมกข์ ห่างกันประมาณสามสิบกิโลเมตร มีเที่ยวบินจากกรุงเทพมาถึงที่นี่ วันละหลายเที่ยว ตั้งแต่เช้า จนค่ำ สายการบินที่ให้บริการอยู่ในเวลานี้คือ แอร์เอเชียและนกแอร์ ใช้เวลาเดินทางมาประมาณหนึ่งชั่วโมง 
การเดินทางจากสนามบินสุราษฎร์ มาสวนโมกข์นั้น สามารถทำได้ด้วยการเรียกรถรับจ้างจากหน้าวัดให้ไปรับ (ค่าบริการห้าร้อยบาทต่อเที่ยว ไม่จำกัดจำนวนคน) หรือเรียกรถบริการจากสนามบินให้มาส่ง ส่วนขากลับจากสวนโมกข์มาสนามบิน นั้น หากเดินทางคนเดียวมีวิธีการประหยัดได้ด้วยการออกมาขึ้นรถตู้สายไขยา-สุราษฎร์ ที่ศาลารอรถริมทางหลวง แล้วบอกคนขับรถให้เข้าไปส่งในสนามบิน (เป็นกรณีพิเศษ) ค่าบริการประมาณหนึ่งร้อยบาทต่อคน (ควรตกลงราคากับคนขับรถให้เรียบร้อยก่อน)
รถส่วนตัว
หากขับมาจากจังหวัดที่อยู่เหนือสุราษฎร์ขึ้นไป มาตามทางหลวงสาย ๔๑ จุดสังเกตว่ามาใกล้สวนโมกข์แล้วก็คือ เมื่อมาถึงหลังสวน (อยู่ในเขตจังหวัดชุมพร) อีกประมาณ ๔๕ นาทีก็จะถึงแล้ว เมื่อขับมาเรื่อยๆ จะเจอป้ายบอกทางไปตลาดไชยา, พุมเรียง อยู่ทางซ้ายมือ ขอให้ขับต่อไปบนทางหลวง อีกไม่กี่กิโลเมตรก็จะถึงแล้ว ให้คอยสังเกตป้ายเล็กสีขาว ติดตั้งอยู่ปากซอยเล็กๆ เขียนว่า Suanmok ป้ายนี้จะชี้ไปอีกฝั่งถนนหนึ่ง (ดูรูป) ซึ่งหมายถึงสวนโมกข์ส่วนที่เป็นวัด หากต้องการไปสวนโมกข์นานาชาติ ก็ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปในซอยนี้ ขับตรงไปอีกประมาณ ๑.๒ กม.ก็จะถึง จุดสังเกตอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้ว่าใกล้ถึงสวนโมกข์หรือยัง คือการดูหลักกิโลเมตร สวนโมกข์ตั้งอยู่ที่หลักกิโลเมตรที่เกือบๆ หกร้อย
หากขับมาจากจุดที่อยู่ใต้สวนโมกข์ลงไป เขตวัดจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ มีอาคารธรรมทานตั้งอยู่หน้าวัด หากต้องการไปสวนโมกข์นานาชาติ ก็ให้ขับเลยวัดไปเพื่อไปกลับรถ 
ที่สวนโมกข์ ไม่ว่าจะเป็นเขตวัดหรือเขตสวนโมกข์นานาชาติ ล้วนไม่มีโรงรถที่มีหลังคาบังแดด บังน้ำค้างและสิ่งสกปรกให้ 

คติธรรมหลวงพ่อพุทธทาส









ปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์



สวนโมกข์มีการจัดอบรมอานาปานสติเป็นประจำทุกเดือนตลอดทั้งปี มีทั้งรายการที่จัดสำหรับฆราวาสและพระภิกษุ สามเณร ในส่วนของฆราวาสนั้นมีจัดสำหรับทั้งผู้ใหญ่ ทั้งเด็ก และสำหรับมาเป็นครอบครัว มีจัดการอบรมเป็นภาษาอังกฤษสำหรับชาวต่างชาติหรือชาวไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของรายการอบรมอานาปานสติที่จัดเป็นภาษาไทย เป็นประจำทุกเดือน ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๗ นั้น ในระยะที่ผ่านมา มีผู้เดินทางมารับการอบรมมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถรับลงทะเบียนได้รวดเร็วขึ้น คณะทำงานจึงได้เพิ่มข้อมูลที่เกี่ยวกับสิ่งที่ควรรู้เพื่อใช้ในการตัดสินใจมารับการอบรม ขั้นตอนการลงทะเบียน และที่สำคัญคือไฟล์ใบสมัครรับการอบรมให้ผู้ที่จะมารับการอบรมพิมพ์และกรอกให้เรียบร้อยแล้วนำมา พร้อมกับบัตรประชาชนในวันลงทะเบียน
คำถาม/คำตอบเมื่อไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์

ต้องใส่ขาวทั้งชุดหรือไม่

ไม่จำเป็นต้องใส่ชุดขาว การใส่ชุดขาวนอกจากจะทำให้สิ้นเปลือง เนื่องจากต้องไปหาซื้อมาเป็นการเฉพาะแล้ว ยังอาจจะเป็นอุปสรรคกับการมาปฏิบัติธรรม ที่ต้องนั่งกับพื้นปูน พื้นทราย เนื่องจากกลัวเปื้อน สำหรับผู้ที่ต้องการใส่ชุดขาว ขอให้หาที่มีเนื้อผ้าหนาพอสมควร หรือมิฉะนั้นก็ควรใส่เสื้อและกางเกงซับในด้วย เพื่อความสุภาพ
ควรเลือกเสื้อผ้าที่หลวม ใส่สบาย ไม่อับชื้นง่าย เมื่อซักก็ตากแห้งง่าย สีสุภาพ และต้องปกปิดมิดชิด ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการลุกนั่ง ก้มกราบ และมีการนั่งกับพื้นค่อนข้างมาก มีการออกกำลังกายในตอนเช้า ผู้หญิงหากใส่ผ้าถุงได้จะสะดวกที่สุด คือเหมาะแก่การนั่งสมาธิ ซักง่าย แห้งง่าย ใช้ผลัดเปลี่ยนเวลาอาบน้ำได้ ใส่ไปแช่ตัวในบ่อน้ำร้อนธรรมชาติที่อยู่ใกล้ๆ ที่พักได้ ทำให้ไม่ต้องนำเสื้อผ้ามามากชิ้น และหากสามารถนำเสื้อผ้ามามาพอโดยไม่ต้องซัก จะเป็นการช่วยประหยัดน้ำ และทำให้ท่านมีเวลาว่างมากขึ้น
สำหรับผู้ชาย มีผู้นิยมใส่กางเกงเล หรือกางเกงวอร์มกันมาก
นอกจากนี้ ควรนำสิ่งต่อไปนี้มาด้วย
  • เสื้อแขนยาวสำหรับใส่เวลาเช้าที่บางครั้งอากาศเย็น
  • ร่ม โดยเฉพาะช่วงระหว่างเดือน พค.- มค. ซึ่งมักมีฝนตก
  •  รองเท้าฟองน้ำ

ห้องนอน, ห้องน้ำ, ห้องส้วม เป็นอย่างไร
ที่พัก หรือหอพักนั้น แยกชายหญิงอยู่คนละอาคาร แต่ละคนจะได้พักห้องเดี่ยว และไม่สามารถพักห้องละสองคนได้ ในห้องมีเตียงและราวตากผ้าแห้ง พร้อมไม้แขวนเสื้อ (ราวตากผ้าที่ซักแล้ว อยู่หน้าห้อง) มีมุ้ง เสื่อนอน หมอนไม้ ผ้าห่ม
ห้องส้วมใช้ร่วมกัน การอาบน้ำใช้ตักอาบจากที่กักน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างไว้ในอาคาร ผู้ชายจึงควรนำผ้าขาวม้า และผู้หญิงควรนำผ้าถุงสีเข้มสำหรับใช้อาบน้ำมาด้วย
วันสุดท้ายอบรมถึงเวลาเท่าไร
วันที่๒๗ ซี่งเป็นวันสุดท้ายของการอบรม ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถเดินทางกลับได้ตั้งแต่เวลา ๗.๐๐ น.เป็นต้นไป
ควรกลับกรุงเทพฯ ด้วยรถไฟเที่ยวใด
สำหรับผู้ที่มาจากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางกลับด้วยรถไฟสปินเตอร์เที่ยวสายๆ หรือขึ้นรถทัวร์ที่หน้าวัด เที่ยวประมาณ ๙.๐๐ น. โดยจะต้องซื้อตั๋วและแจ้งบริษัทรถทัวร์เอาไว้ล่วงหน้าว่าให้จอดรับหน้าสวนโมกข์ (รถทัวร์ที่ว่านี้ เป็นรถที่มีต้นทางที่ตัวเมืองสุราษฎร์ ปลายทางกรุงเทพฯ)
สำหรับผู้ที่ต้องการใช้เวลาเลือกหนังสือ เทป/ CD/ MP3/ DVD ที่ธรรมทานมูลนิธิ ซึ่งตั้งอยู่หน้าวัด หรือเที่ยวชมสวนโมกขพลาราม วัดพระธาตุไชยา พุมเรียง ก็สามารถเลือกกลับรถไฟนอน ซึ่งออกรถราวๆ หนึ่งทุ่ม หรือรถทัวร์ที่มาถึงหน้าวัดราว ๆ ๒ – ๓ ทุ่ม
ควรวางแผนการเดินทางกลับ และซื้อตั๋วขากลับให้เรียบร้อยก่อนเข้ารับการอบรม เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวล และที่สวนโมกข์นานาชาติไม่มีบริการซื้อตั๋วเดินทาง
มาวันแรก (วันที่ ๑๙) ไม่ทัน ขอมาถึงเช้าวันต่อมาได้ใหม
ท่านจำเป็นต้องมาให้ถึงภายในเวลา ๑๔.๐๐ น.ของวันที่ ๑๙ เนื่องจากในวันนั้น ตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๐ น.เป็นต้นไป คณะทำงานจะนำชมสถานที่ ชี้แจงระเบียบความเป็นอยู่และพื้นฐานการปฏิบัติธรรมที่จำเป็น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่ผู้รับการอบรมต้องรู้ เพื่อความมั่นใจ และป้องกันความกังวลใจอันอาจจะมีเนื่องจากไม่รู้กติกาและกำหนดการต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการรบกวนผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมท่านอื่นโดยไม่เจตนา สำหรับผู้ที่เคยมาร่วมการอบรมแล้ว อาจจะคิดว่ารู้เรื่องเหล่านี้แล้ว แต่เนื่องจากบางครั้ง ระเบียบ วิธีการต่างๆ ได้รับการปรับปรุง คณะทำงานจึงขอให้ท่านมาร่วมกิจกรรมตั้งแต่แรกให้ครบถ้วน นอกจากนี้สำหรับผู้ที่เดินทางมาไกล ย่อมต้องการการพักผ่อนที่เพียงพอก่อนเริ่มการอบรม  หากท่านไม่สามารถมาให้ทันเวลาในวันที่ ๑๙ ได้ขอแนะนำให้หาจังหวะใหม่ ที่สามารถมาได้ตั้งแต่วันที่ ๑๙ และอยู่จนถึงวันที่ ๒๗ ได้ ธรรมาศรมนานาชาติมีการจัดอบรมเป็นประจำทุกเดือน
ควรนำไฟฉายมาด้วยหรือไม่
ที่ธรรมาศรมนานาชาติ ได้จัดโคมเทียนไว้ประจำห้องพักแต่ละห้องแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำไฟฉายติดตัวมา หากท่านต้องการนำมาจริงๆ ขอให้นำถ่านไฟฉายสำรองมาด้วย เนื่องจากที่ธรรมาศรมนานาชาติไม่มีการจำหน่ายถ่านไฟฉาย นอกจากนี้ยังขอให้นำถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วติดตัวไปทิ้งในที่ที่เหมาะสม การช่วยกันลดการใช้ถ่านไฟฉาย เป็นการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมทางหนึ่ง
เมื่อเดินทางมาถึงแล้ว จะมีที่ให้แน่นอนหรือไม่ ในเมื่อไม่ให้สมัครหรือจองการเข้าร่วมอบรมล่วงหน้า
ธรรมาศรมนานาชาติสามารถรับผู้ต้องการรับการอบรมครั้งละไม่เกิน ๑๘๐ คน (ชาย ๕๐ หญิง ๑๓๐ คน)  ตามจำนวนห้องพักที่มีอยู่ หอพักของหญิงชายจะแยกกันคนละอาคาร แต่ละอาคารมีรั้วรอบขอบชิด ห้องพักจะเป็นห้องเดี่ยวอยู่ได้คนเดียว มีอุปกรณ์เครื่องนอน ที่แขวนเสื้อผ้าภายในห้อง ใส่กุญแจได้ (สามารถนำกุญแจของตัวเองมาคล้องได้)
สำหรับการจัดอบรมอานาปานสติที่เป็นภาษาไทยนั้น โดยปกติแล้วหากมิใช่ช่วงปลายปี, ปีใหม่, วันหยุดปิดเทอมของนักเรียนนักศึกษา หรือ มีวันหยุดติดต่อกันหลายวันในระหว่างวันที่ ๑๙-๒๗ แล้ว มักจะมีที่พักให้เพียงพอกับจำนวนผู้เดินทางมารับการอบรม อย่างไรก็ตาม ระยะหลังๆ นี้ คณะทำงานสังเกตว่าหากวันที่ ๑๙ ของเดือนใดตรงกับวันเสาร์แล้ว มักจะมีผู้มารับการอบรมมากเป็นพิเศษ
เพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อเดินทางมาถึงธรรมาศรมนานาชาติแล้ว จะมีโอกาสสูงที่จะได้เข้ารับการอบรม ควรเดินทางมาให้ถึงแต่เช้าๆ ของวันที่ ๑๙ ซึ่งเป็นวันลงทะเบียน คณะทำงานจะเริ่มรับลงทะเบียน ตั้งแต่เวลา ๗.๐๐ น. และปิดรับเมื่อเต็ม แต่ไม่เกิน ๑๔.๐๐ น. หมายความว่าถึงแม้เมื่อถึงเวลา ๑๔.๐๐ น.แล้วที่พักยังไม่เต็ม คณะทำงานในการลงทะเบียนจะปิดการรับลงทะเบียนทันที ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ตั้งใจมารับการอบรมได้ เก็บของเข้าที่พัก ทำความสะอาดที่พัก อาบน้ำพักผ่อนอย่างเพียงพอก่อนที่กิจกรรมแรก จะเริ่มในเวลา ๑๖.๐๐ น.
ในวันลงทะเบียนนั้น ห้องครัวที่ธรรมาศรมนานาชาติจะเตรียมอาหารเช้า (๗.๐๐-๙.๐๐ น.) และอาหารกลางวัน (๑๒.๐๐-๑๓.๐๐ น.)ไว้ให้ทุกท่านได้รับประทาน จึงไม่จำเป็นต้องนำอาหารมา แต่หากผู้ใดไม่ได้มาในช่วงเวลาที่กำหนดไว้นี้ กรุณารับประทานมาจากข้างนอกก่อน ขอความกรุณาไม่นำอาหารเข้ามาในสถานที่อบรม เพื่อลดจำนวนขยะ 

ธรรมทานมูลนิธิ



คณะธรรมทาน ตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ในตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อมีส่วนช่วยเหลือให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ในยุคกึ่งพุทธศาสนายุกาล โดยการเผยแผ่ความจริงในพระธรรมวินัยอย่างไม่ปิดบังซ่อนเร้น เพื่อให้พุทธบริษัทได้มีความรู้ ยังกันและกันให้ชำระล้างความชั่วอันเป็นเสี้ยนหนาม และเพาะปลูกการประพฤติชอบแท้จริง อันเป็นความสุข ได้ดำเนินกิจการดังต่อไปนี้
๑.      ธรรมทานมูลนิธิ เป็นนิติบุคคลการกุศล เป็นเจ้าของทุน และทรัพย์สินไว้ใช้ในการเผยแผ่ธรรมะ มีคณะธรรมทานรักษาทุน และทรัพย์สินของมูลนิธิ ให้ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์
๒.      สวนโมกขพลาราม สวนโมกขพลาราม แปลว่า ป่าไม้ที่น่ายินดีอันเป็นกำลังให้ถึงธรรมเครื่องหลุดพ้นจากทุกข์ เพื่อรองรับผู้ปฏิบัติธรรมจริงๆ อันจะมาจากทิศทั้งสี่ ไม่จำกัดพวก จำกัดชั้น เพื่อเป็นโอกาสแก่ผู้ปรารถนาทุกท่านจะได้มีชีวิตอยู่ตามต้องการ ในวงแห่งปฏิบัติธรรมเพื่อโลกุตตรสุข
๓.      ธรรมาศรมนานาชาติ หรือสวนโมกข์นานาชาติ ท่านพุทธทาสจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนองปณิธานทั้งสามของท่าน คือเป็นสถานที่ให้ทุกคนเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน เป็นสถานที่ทำความเข้าใจและร่วมมือระหว่างศาสนา และเป็นสถานที่ทำให้โลกหลุดพ้นจากอำนาจวัตถุ ใช้อบรมชาวต่างชาติโดยเฉพาะทุกต้นเดือน และอบรมชาวไทยที่เป็นหมู่คณะประสงค์ให้อบรม ใช้อบรมชาวต่างชาติ วันที่ ๑-๑๐ ของทุกเดือน, อบรมคนไทย วันที่ ๒๐-๒๖ ของทุกเดือน อบรมพิเศษแก่หมู่คณะที่ประสงค์ให้อบรมวันที่ ๑๒-๑๘ ของเดือน
๔.      ธรรมาศรมธรรมทูต (เขตดอนเคี่ยม) เป็นสถานที่ท่านพุทธทาสจัดขึ้นเพื่อใช้อบรมพระธรรมทูตชาวต่างประเทศโดยเฉพาะ เพื่อพระธรรมทูตช่วยเผยแผ่ธรรมะทั่วโลก ชาวตะวันตกมีอิทธิพลต่อโลกมา ถ้าได้เข้าใจพุทธศาสนา ปฏิบัติจริงเผยแก่นแท้พุทธรรม โลกก็จะมีสันติภาพเร็วขึ้น ง่ายขึ้น
๕.      ค่ายธรรมบุตร เป็นสถานที่เดิมของสวนโมกข์ เนื้อที่ประมาณ ๓๐ ไร่ มีกำแพงล้อมรอบ ใช้เป็นสถานที่อบรมสมาธิภาวนาสำหรับพระภิกษุ วันที่ ๑-๑๕ ของเดือน ในช่วงออกพรรษา
๖.      ธรรมาศรมธรรมมาตา อาศรมสำหรับหญิงผู้เสียสละโลก อุทิศชีวิตแด่พระธรรม เกิดขึ้นตามความดำริของท่านพุทธทาส เพื่อเป็นกตัญญูกตเวที ตอบแทนเพศมารดา ให้สมแก่ความเหนื่อยยากลำบาก และเพื่อเสริมแทนภิกษุณีบริษัทที่ยังขาดอยู่ ฝึกอบรมเพศหญิงให้เป็นธรรมทูตสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้สูงสุด
๗.      หนังสือพิมพ์พุทธสาสนา เป็นวารสารเผยแผ่พระธรรม และแถลงกิจการของคณะธรรมทาน ให้ธรรมะเป็นธรรมทาน ช่วยเพื่อนมนุษย์ดับทุกข์ พบความสุขที่แท้จริง สงบเย็น เป็นประโยชน์
๘.      กองตำราคณะธรรมทาน รวบรวมและจัดทำหนังสือ สื่อ เพื่อเผยแผ่พระธรรม
๙.      มูลนิธิพุทธทาส รวบรวมผลงาน คำสอนท่านพุทธทาส แปลเป็นภาษาต่างประเทศ และจัดพิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมทาน
การติดต่อกับคณะธรรมทาน
โปรดส่งจดหมายไปยัง นายเมตตา พานิช ที่คณะธรรมทาน อาคารธรรมทาน เลขที่ ๖๘/๑ หมู่ที่ ๖ ต.เลม็ด อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๑๑๐
เมื่อท่านต้องการร่วมทำบุญในกิจการใดโปรดระบุให้ชัด เช่น อุดหนุนหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา บำรุงกิจภิกษุสามเณรในสวนโมกขพลาราม สมทบทุนกิจการของคณะธรรมทาน กิจการสวนโมกขพลาราม กิจการสวนโมกข์นานาชาติ เป็นต้น
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง

มีอะไรในสวนโมกข์



สวนโมกข์นั้น มีเนื้อที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น สามารถกล่าวได้ว่า สวนโมกข์แบ่งเป็นเขตใหญ่ๆ ได้ ๒ เขต ตามสถานที่ตั้ง คือ ฝั่งสวนโมกขพลาราม (วัดธารน้ำไหล) และฝั่งสวนโมกข์นานาชาติ ๒ เขตนี้ตั้งอยู่คนละฝั่งถนน ทางหลวงหมายเลข ๔๑
            ฝั่งวัดธารน้ำไหล เป็นที่ที่ท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านอาจารย์ได้ย้ายจากสวนโมกข์แห่งแรกที่พุมเรียงมาอยู่ที่ปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ มีเนื้อที่ ๓๑๐ ไร่ มีเขาพุทธทอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบสถ์ธรรมชาติ เป็นศูนย์กลาง ในเขตวัดธารน้ำไหลนี้ ยังมีลานหินโค้ง สระนาฬิเก โรงมหรสพทางวิญญาณ ศาลาธรรมโฆษณ์ กุฏิท่านพุทธทาส ที่พักสงฆ์ ที่พักอุบาสก อุบาสิกาทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติที่มาอาศัยศึกษาปฏิบัติธรรม
            เมื่อมาจากกรุงเทพฯ ฝั่งนี้จะอยู่ทางขวามือ
            ที่หน้าวัดธารน้ำไหลนี้ มีอาคารธรรมทาน สูง ๓ ชั้น ไม่ได้ทาสี ตั้งอยู่ (นอกรั้ววัด) เป็นที่ตั้งของคณะธรรมทาน ธรรมทานมูลนิธิ หนังสือพิมพ์พุทธสาสนา กองตำราคณะธรรมทาน มูลนิธิพุทธทาส และศูนย์หนังสือและสื่อธรรมะต่างๆ ที่ท่านอาจารย์บรรยายเอาไว้ ในส่วนของหนังสือนั้น นอกจากที่เป็นภาษาไทยแล้ว ยังมีที่แปลเป็นภาษาอื่นๆ เช่น เยอรมัน จีน ฯลฯ จำนวนหนึ่ง
            ธรรมทานมูลนิธิเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานทุกๆ ด้านของสวนโมกขพลาราม (ทั้ง ๒ ฝั่ง) ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนการจัดการอบรมปฏิบัติธรรมทั้งหมดด้วย การติดต่อประสานงานอันเกี่ยวกับการอบรมจึงเริ่มที่ธรรมทานมูลนิธินี้ ในส่วนของการขอจำวัด หรือจำพรรษาของพระ (ทั้งที่เป็นพระนวกะ และมิใช่พระนวกะ)นั้น ต้องติดต่อกับส่วนประชาสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่ในวัดโดยตรง
ฝั่งสวนโมกข์นานาชาติ เป็นเขตที่ท่านอาจารย์พุทธทาสสร้างขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งต่างหากจากฝั่งวัดธารน้ำไหล คืออยู่คนละฟากถนน ลึกเข้าไปจากทางหลวงประมาณกิโลเมตรเศษ เปิดใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ เพื่อสนองปณิธานของท่าน ๓ ประการ คือ
·         เพื่อให้สามารถเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน
·         เป็นสถานที่ทำความเข้าใจและร่วมมือกันระหว่างศาสนา
·         เป็นสถานที่ทำให้โลกหลุดพ้นจากอำนาจวัตถุ 
ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว การพัฒนาสถานที่และสิ่งแวดล้อมต่างๆ จึงมุ่งให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้สัมผัสความร่มรื่นสงบสงัดของธรรมชาติ ปลอดจากการรบกวน ให้มีโอกาสใคร่ครวญธรรมได้อย่างเต็มที่ สำหรับผู้ที่มีความตั้งใจฝึกฝนอบรมตนอย่างจริงจัง
เนื้อที่ฝั่งนี้รวมกัน ประมาณ ๒๐๐ ไร่ แบ่งได้เป็นเขตย่อยๆ ๓ เขตคือ
·         ธรรมาศรมนานาชาติ เป็นศูนย์อบรมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทุกเพศ ทุกวัย เนื้อที่ประมาณ ๖๐ ไร่
·         ธรรมาศรมธรรมทูต เป็นเขตที่รักษาความเป็นป่าเอาไว้ สำหรับฝึกพระธรรมทูตชาวต่างชาติ เนื้อที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่
·         ธรรมาศรมธรรมมาตา เป็นเขตที่จัดให้มีการฝึกฝนอบรมธรรมะสำหรับเพศหญิงโดยเฉพาะ เนื้อที่ประมาณ ๔๐ ไร่

กำเนิดสวนโมกข์




ท่านพุทธทาสภิกขุจากกรุงเทพฯ กลับมายังพุมเรียงเมื่อปลายปี พ.ศ. 2474 [1] โดยใช้วัดพุมเรียงเป็นที่อาศัยชั่วคราว ขณะเดียวกันก็เริ่มเสาะหาสถานที่เหมาะสมในการจะสร้างสถานปฏิบัติธรรม จนในที่สุดก็พบวัดตระพังจิต ซึ่งเป็นวัดร้าง และมีป่ารก ท่านพุทธทาสภิกขุเขียนถึงเรื่องการสร้างสถานปฏิบัติธรรม และเล่าถึงสภาพวัดตระพังจิตเอาไว้ว่า
ในปลายปี พ.ศ. 2474 ระหว่างที่ฉันยังศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้มีการติดต่อกับ นายธรรมทาส พานิช โดยทางจดหมายอยู่เสมอ ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการส่งเสริมปฏิบัติธรรม ตามความสามารถ ในที่สุดในตอนจะสิ้นปีนั่นเอง เราได้ตกลงกันถึงเรื่องจะจัดสร้างสถานที่ส่งเสริมปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะขึ้นสักแห่งหนึ่ง เพื่อความสะดวกแก่ภิกษุสามเณรผู้ใคร่ในทางนี้ ซึ่งรวมทั้งตัวเองด้วย โดยหวังไปถึงว่า ข้อนั้นจะเป็นการช่วยกันส่งเสริมความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ในยุคซึ่งเราสมมติกันว่า เป็นกึ่งพุทธกาลส่วนหนึ่งด้วย เมื่อไม่มีที่ใดที่เหมาะสำหรับพวกเราจะจัดทำยิ่งไปกว่าที่ไชยา เราก็ตกลงกันว่า จำเป็นที่เราจะต้องจัดสร้างที่นี่[2]
เมื่อลงมาแล้วก็เริ่มหาที่ที่เหมาะสม โดยมีคณะอุบาสกธรรมทาน 4-5 คน เป็นคนออกไปสำรวจ ไม่นานนัก สักเดือนกว่าๆ จึงตกลงกันว่าจะใช้วัดร้างชื่อวัดตระพังจิก เป็นวัดที่ผมไม่เคยรู้ด้วยซ้ำไป พวกนายเที่ยง นายกวย พวกนี้เขารู้มาอย่างไรก็ไม่ทราบ แล้วก็แนะกันไปดู ไปดูครั้งเดียวเห็นว่าพอใช้ได้ก็เอาเลย ต่อจากนั้นเขาก็ไปทำที่พักให้ง่ายๆ หลังพระพุทธรูป
มันก็ไม่มีเรื่องอะไรนัก เป็นวัดร้างมานาน เป็นป่ารก ครึ้มไปหมด เป็นที่ ๆ ชาวบ้านเขาชอบไปเขี่ยเห็ดเผาะ เขาใช้เหล็กอันเล็ก ๆ เขี่ยดินหาเห็ดเผาะ แถวนั้นมันมีมาก ผู้หญิงจะไปหาเห็ดเผาะ ผู้ชายจะไปหาเห็ดโคน พวกชอบกินหมูป่าก็จะไปล่าหมูป่าที่แถวนั้น และเป็นที่กลัวผีของเด็ก ๆ พวกผู้หญิงที่ไม่มีลูก ก็ไปบนบานขอลูกกับพระพุทธรูปในโบสถ์ร้างที่เขาถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ในทางนั้น ในสระก็ว่ามีผีดุ มีผีอยู่ในสระ มีไม้หลักที่เรียกว่าเสาประโคนปักอยู่กลางสระ [3]
ท่านพุทธทาสภิกขุย้ายเข้าอยู่วัดตระพังจิตเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา[4] (ก่อนการเปลี่ยนระบอบการปกครองประมาณ 1 เดือน) ที่วัดตระพังจิก ท่านพุทธทาสภิกขุพบว่ามีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่ทั่วไป ซึ่งพ้องกับคำในภาษาบาลีคือ โมกข แปลว่าความหลุดพ้น และ พลา แปลว่ากำลัง ท่านพุทธทาสภิกขุจึงนำสองคำนี้มาต่อกัน และใช้ตั้งชื่อสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ว่า สวนโมกขพลาราม ซึ่งแปลว่า สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้น
การดำเนินชีวิตในสวนโมกขพลาราม ท่านพุทธทาสภิกขุยึดคติที่ว่า เป็นอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง [5] โดยชีวิตประจำวันของท่านพุทธทาสภิกขุนั้นเป็นไปอย่างสันโดษและสมถะ สำหรับวัตถุสิ่งของภายนอก ท่านพุทธทาสภิกขุจะพึ่งพาก็แต่เพียงวัตถุสิ่งของที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้ และวัตถุสิ่งของที่จำเป็นในการเผยแพร่ธรรมะเท่านั้น โดยไม่พึ่งพาวัตถุสิ่งของฟุ้งเฟ้ออื่นใดที่เกินจำเป็นเลย เรียกได้ว่ามีความเป็นอยู่อย่างต่ำที่สุด หากแต่การกระทำในความเป็นอยู่นั้นเป็นการกระทำอย่างสูงที่สุด นั่นคือเป็นการกระทำเพื่อศึกษา ปฏิบัติ และเผยแพร่พระพุทธศาสนา การศึกษาและปฏิบัตินั้นเป็นการกระทำอันนำไปสู่มรรคผล และแม้กระทั่งนิพพาน ซึ่งเป็นอุดมคติที่สูงที่สุดที่ชีวิตมนุษย์ควรจะบรรลุถึง ส่วนการเผยแพร่นั้นเป็นการกระทำเพื่อนำกระแสธรรมอันบริสุทธิ์ให้อาบหลั่งไหลรินรดคนทั้งโลก และทุกโลก เป็นการชี้ทางสว่างให้เพื่อนมนุษย์ ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้บรรลุถึงอุดมคติที่สูงที่สุดของชีวิตมนุษย์ไปด้วยกัน หรืออย่างน้อย ก็จะทำให้มนุษย์เรานั้นได้ลดการเบียดเบียนตนเอง และลดการทำร้ายผู้อื่น อันจะก่อให้เกิดทั้งสันติสุขและสันติภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งตัวมนุษย์และโลกมนุษย์ปรารถนา
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2476 ท่านพุทธทาสยังได้เริ่มจัดทำหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา (ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์เผยแพร่หลักธรรมรายตรีมาศ) ด้วยเช่นกัน

วัดสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฏร์ธานี



สวนโมกขพลาราม หรือ วัดธารน้ำไหล จัดตั้งโดยท่านพุทธทาสภิกขุ ตั้งที่เขาพุทธทอง ริมทางหลวงหมายเลข 41 บริเวณกิโลเมตรที่ 134 อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา
ท่านพุทธทาส หรือ พระมหาเงื่อม ในเวลานั้น พร้อมด้วยโยมน้องชาย คือ นายยี่เกย หรือ คุณธรรมทาส พานิช และ เพื่อนในคณะธรรมทานประมาณ 4 - 5 คน เท่านั้น ที่ร่วมรับรู้ถึงปณิธานอันมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม ตามรอยพระอรหันต์ ของท่าน ทุกคนเต็มอกเต็มใจ ที่จะหนุนช่วยด้วยความศรัทธา โดยพากันออกเสาะหาสถานที่ ซึ่งคิดว่ามี ความวิเวก และ เหมาะสมจะเป็นสถานที่ เพื่อทอลองปฏิบัติธรรม ตามรอยพระอรหันต์ สำรวจกันอยู่ประมาณเดือนเศษ ก็พบ วัดร้าง เนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ ชื่อ วัดตระพังจิก ซึ่งรกร้างมานาน บริเวณเป็น ป่ารกครึ้ม มีสระน้ำใหญ่ ซึ่งร่ำลือกันว่ามีผีดุอาศัยอยู่ เมื่อเป็นที่พอใจแล้ว คณะอุบาสก ดังกล่าว ก็จัดทำเพิงที่พัก อยู่หลัง พระพุทธรูปเก่า ซึ่งเป็น พระประธาน ใน วัดร้าง นั้น แล้วท่านก็เข้าอยู่ใน วัดร้างแห่งนี้ เมื่อวันทื่ 12 พฤษภาคม 2475 อันตรงกับ วันวิสาขบูชา โดยมี อัฐบริขาร ตะเกียง และ หนังสืออีกเพียง 2 - 3 เล่ม ติดตัวไป เท่านั้น เข้าไปอยู่ได้ไม่กี่วัน วัดร้าง นาม ตระพังจิก นี้ ก็ได้รับการตั้งนามขึ้นใหม่ ซึ่งท่านเห็นว่า บริเวณใกล้ที่พักนั้น มี ต้นโมก และ ต้นพลา ขึ้นอยู่ทั่วไป จึงคิดนำคำทั้งสองมาต่อเติมขึ้นใหม่ ให้มีความหมายใน ทางธรรม จึงเกิดคำว่า สวนโมกขพลาราม อันหมายถึง สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นทุกข์ ขึ้นในโลกตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา